คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมระดมความคิดเห็นภาคธุรกิจต่อรัฐบาล เพื่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการให้มั่นคงและยั่งยืน
ในโอกาส ครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมบริการในอาเซียน (A Leading University in Trade & Services in ASEAN) การได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการบริการ UNWTO. TedQual จากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาติ (United Nations World Tourism Organization) และการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่
คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการจัดการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการบริการ การผลิตและพัฒนากำลังคนสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงการเผยแพร่องค์ความรู้แก่สังคม ร่วมมือกับคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยว ได้แก่ สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) และสมาคมภัตตาคารไทย ได้จัด งานสัมมนาและเสวนา ในหัวข้อ “ข้อคิดเห็นจากภาคธุรกิจต่อรัฐบาล ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการอย่างไรให้มั่นคงและยั่งยืน” ขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้องปฏิบัติการอีเว้นท์ (UTCC Event Lab) อาคาร 23 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้กล่าวในการบรรยาย หัวข้อ “วิเคราะห์เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการครึ่งปีหลัง (มิถุนายน-ธันวาคม 2566)” ว่า “การท่องเที่ยวมีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักที่นักท่องเที่ยวมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากมีความโดดเด่นในด้านวัฒนธรรม อาหาร และความเป็นมิตรของคนไทย ดังนั้น การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย จะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และที่สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งหากจัดการได้จะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20-30 ล้านคนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”
ด้าน คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงหัวข้อ “ข้อคิดเห็นจากอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต่อรัฐบาล ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการอย่างไรให้มั่นคงและยั่งยืน” ว่า “การพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน โดยในโอกาสที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ต้องเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะหากมีปัญหาตั้งแต่เริ่มแรกในการจัดตั้งรัฐบาลจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศ แม้ว่าจะมีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ไม่ได้หมายความว่าการทำงานจะอยู่ที่หน่วยงานเดียว เพราะการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ในการดำเนินงานต่างๆ ของภาครัฐควรเอื้อให้ภาคเอกชน สมาคม และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน และเป็นการอำนวยความสะดวก รวดเร็วในการให้บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนยังช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายงาน กระจายรายได้ให้คนในพื้นที่ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการ ไม่ใช่ การใช้อำนาจ แต่เป็น การให้อำนาจ การประสานงาน และรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ดังนั้น ทุกกระทรวงต้องประสานการทำงานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวเกิดความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และสร้างความยั่งยืนได้”
สำหรับการบรรยายหัวข้อ “ข้อคิดเห็นจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต่อรัฐบาล ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการอย่างไรให้มั่นคงและยั่งยืน” คุณชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน พบว่า Demand สูง แต่ Supply ไม่พร้อมเนื่องจากมีอุปสรรคต่างๆ เช่น การเชื่อมต่อของระบบขนส่ง เที่ยวบินที่มีจำนวนจำกัด และนโยบายไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลใหม่จะต้องจัดการ Supply Site เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการ (Demand) ที่สูงขึ้นได้ โดยรัฐบาลต้องผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ และสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รัฐบาลควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว เพราะภาคเอกชนคือผู้มีประสบการณ์ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนนโยบายการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตและยั่งยืนต่อไปได้ นอกจากนี้ การ Redesign การท่องเที่ยวโดยเน้นคุณภาพ และความยั่งยืน การส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้การท่องเที่ยวและบริการของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ในการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ข้อคิดเห็นจากภาคธุรกิจต่อรัฐบาล ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการอย่างไรให้มั่นคงและยั่งยืน” โดยผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ คุณศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย คุณฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย และคุณสุกัญญา จันทร์ชู เลขาธิการสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) ได้ร่วมกันให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า
…1) ควรมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
…2) ดำเนินการให้ผู้ประกอบการที่พักแรมขนาดเล็กเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อความเป็นธรรมด้านการแข่งขัน รวมถึงภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างทั่วถึง
…3) จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะการให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
…4) ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ
…5) สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน และ
…6) ส่งเสริมการจัดการความยั่งยืนสำหรับธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไทย รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ จากภาคธุรกิจถึงรัฐบาลชุดใหม่ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยมีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป