เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 – ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานพิธีส่งมอบ “ยานใต้น้ำ ไร้คนขับเพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำ” ให้แก่ คุณประเวทย์ เกิดวัดท่า ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องจักรกล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับมอบ โดยมี รศ.ดร.รามิล เกศวรกุล หัวหน้าโครงการวิจัยยานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำ เป็นทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ดำเนินงาน
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.รามิล เกศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการผลิตและหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีงบประมาณ 9,987,951.18 บาท ระยะเวลาในการสร้าง 18 เดือน ยานใต้น้ำไร้คนขับสามารถสำรวจในน้ำที่มีความลึกไม่น้อยกว่า 25 เมตร ระยะทางในการสำรวจสูงสุดแบบมีสายสัญญาณที่ 250 เมตร และระยะทางในการสำรวจสูงสุดแบบไร้สายสัญญาณที่ 500 เมตร ยานใต้น้ำไร้คนขับ ติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก และระบบตรวจจับระยะด้วยเสียงรอบทิศทางแบบเชิงกล สามารถทำการขับเคลื่อนระยะไกล และถ่ายทอดภาพขณะปฏิบัติงานใต้น้ำแบบใช้สายสัญญาณได้โดยมีระบบไฟส่องสว่างใต้น้ำ พร้อมทั้งทดสอบระบบการทำงานแบบไร้สายสัญญาณใต้ของยานใต้น้ำ นอกจากนี้ยังมีคณะทีมงานวิจัยประกอบด้วย ผศ. เจนจิรา สุขมณี มจพ. นาวาโท ผศ.ดร. ศราวุธ ศรีนาแก้ว สังกัดโรงเรียนนายเรือ รวมถึงนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ยานใต้น้ำไร้คนขับได้นำไปปฏิบัติงานที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ณ เขื่อนสิรินธร และตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในเขื่อนศรีนครินทร์
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ถือเป็นการพัฒนายานได้น้ำไร้คนขับที่ออกแบบ และสร้างยานใต้น้ำที่สามารถตรวจสอบสภาพทุ่นลอยน้ำและทุ่นใต้น้ำของแผงผลิตไฟฟ้าได้ อีกทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพประเภทตัวกรองสัญญาณเพื่อใช้ในการตรวจสอบ และประเมินความเสียหายเบื้องต้น
ลักษณะของยานได้น้ำไร้คนขับ ถูกออกแบบและสร้างพลศาสตร์ของไหลและสร้างระบบขับเคลื่อนของยาน ให้ตัวยานทรงตัวได้ขณะลอยอยู่ในน้ำ โดยมีชุดขับดันทั้งหมด 12 ชุด ทำงานอย่างอิสระ โดยมิติของยานใต้น้ำไร้คนขับ มีตัวถังกว้าง 400 มิลลิเมตร ยาว 700 มิลลิเมตร สูง 300 มิลลิเมตร ระบบถ่ายภาพและบันทึกวีดีโอ การประมวลผล ติดตั้งด้านหน้าหุ่นยนต์ โดยกล้องมีความละเอียด 2 ล้านพิกเซล พร้อมบันทึกวีดีโอระดับ RGB และมีไฟช่วยการมองเห็น ยานสามารถสำรวจในน้ำความลึกไม่น้อยกว่า 25 เมตร ระยะทางไม่น้อยกว่า 250 เมตร โดยติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (USBL-Seatrac X150 และ X010) ระบบตรวจจับระยะด้วยเสียง (Multibeam sensor – Blueprint Subsea รุ่น Oculus M750D) รวมทั้งระบบตรวจจับความเร็วใต้น้ำ
(DVL-A50) การขับเคลื่อนระยไกล ถ่ายทอดภาพการปฏิบัติงานใต้น้ำแบบใช้สายสัญญาณโดยระบบไฟส่องสว่างใต้น้ำ
“ยานใต้น้ำไร้คนขับ” สามารถตอบโจทย์ในภาคอุตสาหกรรมด้านการสำรวจ และซ่อมบำรุงใต้น้ำ จนถึงใต้ทะเล เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงานด้วยมนุษย์ โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้สามารถลดการนำเข้ายานใต้น้ำจากต่างประเทศ และสามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.เจนจิรา สุขมณี โทรศัพท์ 089-767-0099 และชมภาพประกอบของยานใต้น้ำไร้คนขับได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1Z0jCAlqS9NJbFHJSpeRc4WDqk3Nna_Ui?usp=drive_link
ขวัญฤทัย ข่าว /สมเกษ-วุฒิสิทธิ์ ถ่ายภาพ