ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การนำเสนอแผนธุรกิจ” หรือ “Business Pitching” ถือเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญสำหรับสนามธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะการพิชชิ่งนั้นไม่ใช่แค่เพียงการขายไอเดียเพื่อแข่งขันหรือโน้มน้าวให้เกิดการลงทุนในกิจการเท่านั้น แต่ถือเป็นทักษะพื้นฐานของผู้ประกอบการ ที่จะช่วยสื่อสารเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจและคล้อยตามความคิด หรือทำให้เกิดการกระทำบางอย่าง เช่น ทำให้รับรู้และเข้าใจในสินค้าและบริการ หรือกระทั่งเกิดการซื้อขายหรือบอกต่อ
โครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangFusion มุ่งผลักดันศักยภาพผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมไทย (Social Enterprise หรือ SE) ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนที่สนใจในผลกระทบทางธุรกิจที่ควบคู่ไปกับสังคม โดยโครงการฯ ได้จัดเวิร์คชอป “พัฒนาทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจ” (Business Pitching Workshop) สำหรับผู้ประกอบการ SE ในระยะเริ่มต้น (Incubation Program) ที่ผ่านเข้ารอบโครงการฯ รุ่นที่ 12 โดยมี 3 ศิษย์เก่าหรือ BC4C Alumni ที่มากด้วยประสบการณ์ในวงการกิจการเพื่อสังคม และผ่านสมรภูมิการพิชชิ่งจริงกับเหล่าคณะกรรมการ BC4C มาแล้ว ร่วมแบ่งปันเทคนิคและประสบการณ์ในการนำเสนอ
สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ด้วย “แบบจำลองโครงการ”
ปาร์ค-บุตรพจน์ พลพิพัฒนาพงศ์ BC4C รุ่น 9 จาก “ม้งไซเบอร์” แพลตฟอร์มพัฒนาเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้มีทักษะต่างๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดอาชีพ ได้เล่าถึงกระบวนการในการพัฒนาเนื้อหาที่ใช้สำหรับการนำเสนอไว้ว่า “สิ่งสำคัญแรกของการนำเสนอคือ การสร้าง ‘แบบจำลองโครงการ’ ซึ่งเป็นเสมือนแนวทางของกระบวนความคิดก่อนที่จะพัฒนาเป็นสื่อสำหรับการนำเสนอ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นการตกผลึกไอเดียร่วมกันในทีมให้ออกมาในรูปแบบของแผนภาพความคิด (Mind Map) และกระดานเป้าหมาย (Vision Board) จากนั้นค่อยๆ ประมวลไอเดียที่ได้ลงในสื่อสำหรับการนำเสนอ (Pitch Deck) และเข้าสู่การวางแผนงบประมาณ (Budgeting) และแผนการดำเนินงาน (Action Plan) การสร้างแบบจำลองโครงการจะช่วยให้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจในทิศทางเดียวกันและสามารถมองเห็น Roadmap ของโครงการในภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ อีกเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนเห็นภาพตามชัดขึ้น คือ การสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน อาทิ จำนวนเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ศักยภาพหรือทักษะที่ต้องการพัฒนา หน่วยงานที่พร้อมให้การสนับสนุนกิจการ และการประเมินผลการดำเนินกิจการที่ตอบโจทย์ตัวชี้วัดขององค์กร
ฉายผลลัพธ์การพัฒนาชุมชนยั่งยืน ด้วยกระบวนการทำงานของ Data Visualization
ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ BC4C Alumni รุ่น 2 จาก Local Alike กิจการเพื่อสังคมผู้คร่ำหวอดด้านการท่องเที่ยวที่เน้นการพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืน เผยเทคนิคการออกแบบสื่อด้วยการนำข้อมูลดิบมาวิเคราะห์และแสดงผลผ่าน ‘แผนภาพ’ ‘แผนผัง’ หรือ ‘แผนภูมิ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการพิชชิ่ง เพราะในบางบริบทของการนำเสนอภาพเพียงหนึ่งภาพก็สามารถขมวดความคิดหรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ต้องเลือกรูปแบบการนำเสนอภาพให้เหมาะสมกับข้อมูลด้วย เช่น การใช้แผนภาพช่วยอธิบายกระบวนการทำงานของแอปพลิเคชัน หรือการนำเสนอข้อมูลสำคัญเชิงตัวเลขหรือสถิติในรูปแบบกราฟหรือแผนภูมิ ก็จะช่วยให้ผู้ฟัง/ผู้รับสารเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับ Local Alike ได้เลือกใช้ ‘Data Visualization’ (การนำเสนอภาพเชิงข้อมูล) มาแสดงผลข้อมูลทางเศรษฐกิจให้นักลงทุนได้เห็นว่า 100% ของรายได้ จะได้รับการจัดสรรไปยังกิจการและชุมชนในสัดส่วนที่เท่าไหร่”
ดึงความสนใจนักลงทุนด้วยการ “ยึดโยงกิจการกับเรื่องใกล้ตัว”
บอส-คณิน ทรงอธิกมาศ BC4C รุ่น 11 จาก Swoop Buddy แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การส่งต่อเสื้อผ้าทำได้ง่ายขึ้น ได้แชร์ประสบการณ์ตรงของตนเองในฐานะรุ่นพี่หมาดๆ จาก BC4C รุ่นที่ 11 กล่าวว่า “โอกาสในการนำเสนอหนึ่งครั้ง ล้วนมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งกลุ่มผู้ฟังที่มีความหลากหลายด้านประสบการณ์ ช่วงอายุ และความสนใจ ช่วงเวลาในการนำเสนอและการตอบคำถามที่จำกัด ดังนั้น การสร้างความสนใจเพื่อให้การตอบสนอง (Reaction) ในเชิงบวกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำเสนอจำเป็นต้องอาศัยทักษะการดึงความสนใจตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงการย่อยเนื้อหาให้เข้าใจง่าย และสิ่งสำคัญคือ การเชื่อมโยงเรื่องราวของกิจการเข้ากับเรื่องใกล้ตัวหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพ คิดตามขณะฟังได้ เข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดกำลังนำเสนอ และสามารถติดตามการนำเสนอได้จนจบ”
ด้าน รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เผยว่า ตลอดการดำเนินโครงการ BC4C หลายรุ่นทำให้เราเข้าใจและเห็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนมองหาจากกิจการ SE ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการดำเนินธุรกิจ (Business Direction) ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนักลงทุน ซึ่งจาก BC4C Alumni ทั้ง 3 กิจการในข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป้าหมายทางธุรกิจค่อนข้างชัด ทั้งในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชน การพัฒนาทักษะของเยาวชนสู่การต่อยอดอาชีพ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าแฟชั่นบนแพลตฟอร์มดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีดัชนีการวัดผลการดำเนินธุรกิจ (Key Performance Indicator: KPI) ที่จับต้องได้ พร้อมทั้งสามารถพิสูจน์ให้เห็นเรื่องการสร้างผลกระทบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้จริง ซึ่งที่ผ่านมา BC4C ได้เดินหน้าส่งเสริมการบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพกิจการที่ครอบคลุม Incubator และ Accelerator อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมลับคมแผนธุรกิจเพื่อให้เท่าทันเทรนด์ธุรกิจและการตลาด สู่กิจการเพื่อสังคมที่พร้อมนำเสนอแผนธุรกิจต่อนักลงทุน
ถือเป็นการแชร์เทคนิค เคล็ดลับ และประสบการณ์ตรง ให้ผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้กันอย่างดี อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการพิชชิ่ง จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วยการรู้จักและเข้าใจความต้องการของผู้ฟัง และรู้จักปรับเปลี่ยนเทคนิคต่างๆ ไปตามกลุ่มผู้ฟังที่มีความแตกต่างกัน และอย่าลืมนำไปฝึกซ้อมและทดลองใช้จริง ถ้าทำได้ครบทุกองค์ประกอบและฝึกฝนทักษะจนมีความชำนาญ เชื่อว่าความสำเร็จในการพิชิตใจกรรมการอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและการพัฒนาแผนธุรกิจสุดเข้มข้นของผู้เข้ารอบโครงการ Banpu Champions For Change รุ่นที่ 12 (BC4C#12) ได้ที่ www.facebook.com/banpuchampions